‘วิมานหนาม’ บาดแผลแห่งความเหลื่อมล้ำและโศกนาฏกรรมของความรัก
ในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนของความสัมพันธ์และระบบที่กดทับ ‘วิมานหนาม’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวของความรักและการแย่งชิง แต่เป็นกระจกสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดในสังคมไทยที่ยังคงถูกหลอกหลอนด้วยความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจ เพศ และความสัมพันธ์ในครอบครัว
ท่ามกลางฉากหลังของสวนทุเรียนที่เขียวชอุ่ม เรื่องราวของ ทองคำ และ เสก คู่รักเกย์ที่เคยมีความหวังจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุขกลับพังทลายลง เมื่ออุบัติเหตุพรากเสกไปจากโลกใบนี้ ทิ้งให้ทองคำเผชิญกับการต่อสู้เพื่อรักษาสวนทุเรียนที่เขาทุ่มทั้งเงินและแรงกายไว้เพียงลำพัง
การเลือกใช้สวนทุเรียนเป็นศูนย์กลางของเรื่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้กำกับและนักเขียนบทอย่าง บอส – นฤเบศ กูโน ตั้งใจใช้ “ทุเรียน” ซึ่งเป็นผลไม้ที่ใช้เวลาปลูกนานและมีมูลค่าสูงสุดในบรรดาผลไม้ต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความปรารถนา และการต่อสู้ที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสวนทุเรียนเเห่งนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกทุเรียน แต่กลับเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ การเลือกสถานที่เช่นนี้ไม่เพียงแต่ขับเน้นถึงความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจไทย แต่ยังทำให้สวนทุเรียนกลายเป็นตัวแทนของความหวังอันเลือนรางในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่าและไร้โอกาส
ความเหลื่อมล้ำทางเพศและกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของภาพยนตร์ ทองคำและเสกไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เพราะในช่วงเวลาที่เรื่องราวดำเนินไป กฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ยังไม่ถูกยอมรับในประเทศไทย
การขาดสิทธิ์ทางกฎหมายทำให้ทองคำไม่มีสิทธิ์ในที่ดินที่เขาทุ่มเทลงแรงร่วมกับเสกมาอย่างยาวนาน โศกนาฏกรรมของทองคำจึงไม่ใช่แค่การสูญเสียคนรัก แต่เป็นการถูกลิดรอนสิทธิ์ในชีวิตคู่ที่เขาควรจะได้รับ ภาพยนตร์ได้สะท้อนให้เห็นว่าความรักของคนเพศเดียวกันนั้นยังคงถูกมองข้าม แม้ความรักนั้นจะจริงแท้และลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม
ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องราวของ โหม๋ ลูกสาวบุญธรรมของ แม่แสง ยังได้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ที่ผู้หญิงในสังคมชนบทต้องเผชิญ โหม๋เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ยากจนและอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อดูแลแม่เลี้ยงที่พิการ เธอทำงานหนักในสวนเล็กๆ โดยไม่มีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ การที่โหม๋ถูกกดขี่ทั้งจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและค่านิยมในวัฒนธรรมชนบทที่กีดกันสิทธิสตรี ทำให้เธอไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากวงจรความยากจนที่ตนเองเผชิญได้เลย
เมื่อเสกเสียชีวิตลง โหม๋เห็นโอกาสที่จะได้ครอบครองที่ดินและหลุดพ้นจากชีวิตที่ยากลำบาก แต่เธอกลับต้องเผชิญกับการถูกมองว่าเป็นเพียง ‘หญิงรับใช้’ ที่ไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือชีวิตที่ดีกว่า โหม๋จึงกลายเป็นตัวแทนของผู้หญิงในชนบทที่ถูกกดทับทั้งจากความยากจนและค่านิยมที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเธอ
เรื่องราวของแม่แสง ผู้เป็นแม่ของเสก ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิด ‘ลูกคือสมบัติของแม่’ แม่แสงใช้สถานะผู้ได้รับมรดกโดยชอบธรรมกดดันทองคำและโหม๋ เพื่อรักษาอำนาจของเธอไว้ การกระทำของแม่แสงทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดจากสังคมภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ในครอบครัว
ทั้งนี้ ภาพยนตร์ใช้การต่อสู้ในสวนทุเรียนเป็นสัญลักษณ์ของสงครามที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในความเชื่อและผลประโยชน์ที่ไม่มีวันบรรจบกัน ตัวละครแต่ละตัวต่างหยิบ ‘หนามแหลม’ ออกมาเพื่อปกป้องตัวเองและทำลายอีกฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันหนามเหล่านั้นก็สะท้อนถึงความเปราะบางและความเจ็บปวดภายในใจของพวกเขา
สิ่งที่ภาพยนตร์ตั้งคำถามอย่างชัดเจนคือ “ศัตรูที่แท้จริงคือใคร ?” ตัวละครในเรื่องต่างต่อสู้กันเพื่อเอาชนะและครอบครองสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับประโยชน์กลับเป็น “รัฐ” ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจที่ใหญ่กว่าและบิดเบี้ยว ทนายที่ทองคำปรึกษาได้พูดไว้ว่า “ถ้าไม่มีใครรับมรดก ที่ดินจะตกเป็นของรัฐ” ประโยคนี้เเสดงให้เห็นว่าทุกการต่อสู้ของตัวละครไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบที่กดขี่พวกเขาเลยแม้แต่น้อย
‘วิมานหนาม’ จึงเป็นภาพยนตร์ที่มิได้เพียงแต่เล่าเรื่องราวความรักและการแย่งชิง แต่ยังเป็นกระบอกเสียงเล่าถึงความบิดเบี้ยวของระบบและความเปราะบางของมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมอีกด้วย
<< ติดตามหนังดี ซีรีส์ดังก่อนใครได้ที่ www.uhdmax.net | www.inwiptv.org >>