slider2
slider2
previous arrow
next arrow
โรซา พาร์กส ผู้หญิงตัวเล็กที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสีผิว

โรซา พาร์กส ผู้หญิงตัวเล็กที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสีผิว

กลางศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมทางสีผิวที่หยั่งรากลึกทั้งในระบบกฎหมายและวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในรัฐทางใต้ที่กฎหมาย ‘จิม โครว์’ เปิดโอกาสให้มีการแบ่งแยกคนผิวขาวและคนผิวดำอย่างชัดเจนในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ โรงเรียน หรือแม้กระทั่งที่นั่งบนรถโดยสารสาธารณะ คนผิวขาวได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนผิวดำทุกด้าน

ในยุคที่ความอยุติธรรมครอบงำชีวิตผู้คน สตรีคนหนึ่งกลับกล้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ นามของเธอคือ โรซา พาร์กส

โรซา พาร์กส

วันที่ 1 ธันวาคม ปี 1955 ในเมืองมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมา โรซา หลุยส์ แม็คคอลลีย์ พาร์กส หญิงวัยกลางคนผิวดำตัดสินใจที่จะไม่ลุกจากที่นั่งบนรถโดยสารเพื่อมอบให้แก่ผู้โดยสารผิวขาว แม้จะถูกสั่งโดยคนขับรถก็ตาม การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการปฏิเสธคำสั่งธรรมดา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงอนาคตของชาวผิวดำทั่วทั้งอเมริกาเลยทีเดียว

โลกแห่งความอยุติธรรมที่โรซาเติบโต

โรซาเกิดในครอบครัวผิวดำชนชั้นล่างในรัฐแอละแบมา ช่วงวัยเด็กของเธอถูกหล่อหลอมด้วยความรุนแรงและความเกลียดชังทางสีผิวที่เป็นเรื่องปกติในยุคนั้น แม่ของเธอเป็นครูในพื้นที่ชนบท ขณะที่ชุมชนคนดำรอบตัวต้องเผชิญกับการคุกคามของกลุ่ม ‘คูคลักซ์แคลน (KKK)’ ซึ่งเดินทางเผาโบสถ์ โรงเรียน และบ้านเรือนคนผิวดำ คุณตาของโรซามักวางปืนลูกซองไว้ใกล้มือ เพื่อปกป้องครอบครัวจากการคุกคามในยามค่ำคืน

ความรุนแรงภายนอกนั้นซ้ำเติมด้วยกฎหมาย ‘จิม โครว์’ ที่แยกคนผิวดำออกจากคนผิวขาวในแทบทุกพื้นที่ รถโดยสารก็เช่นเดียวกัน คนผิวดำถูกบังคับให้นั่งด้านหลังรถ และหากที่นั่งส่วนหน้าของคนขาวเต็ม คนดำที่นั่งอยู่ต้องลุกให้ แม้จะถูกแบ่งแยกเช่นนี้ แต่กว่า 70% ของผู้ใช้บริการรถโดยสารในมอนต์โกเมอรีกลับเป็นคนผิวดำ นี่เป็นหนึ่งในความไม่ยุติธรรมที่โรซาเผชิญอยู่ทุกวัน

จากแม่บ้านสู่สัญลักษณ์แห่งการเคลื่อนไหว

โรซามิได้เกิดมาเป็นนักต่อสู้ เธอเคยเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดาที่ทำงานรับใช้ครอบครัวคนผิวขาว แต่เมื่อเธอได้พบกับสามี เรย์มอนด์ พาร์กส ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เขาได้สนับสนุนให้เธอกลับไปเรียนต่อ และทั้งคู่ยังเป็นสมาชิกของ ‘สมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสี (NAACP)’ ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนผิวดำในอเมริกา

วันที่เธอปฏิเสธที่จะลุกจากที่นั่งบนรถโดยสารมิใช่การตัดสินใจชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากประสบการณ์ชีวิตที่ถูกกดขี่มานาน เธอไม่เหนื่อยกาย แต่ ‘เหนื่อยที่จะต้องยอมอยู่ร่ำไป’

จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์

เมื่อโรซาถูกจับกุมและต้องเสียค่าปรับ 14 เหรียญ ชุมชนคนผิวดำในมอนต์โกเมอรีจึงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงความอยุติธรรม พวกเขาจัด ‘การคว่ำบาตรรถโดยสารมอนต์โกเมอรี (Montgomery Bus Boycott)’ ซึ่งกินเวลานานกว่า 381 วัน ส่งผลให้ระบบขนส่งในเมืองสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล

นั่นจึงทำให้การกระทำของโรซากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่จุดประกายการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ และนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายแบ่งแยกสีผิวในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศในเวลาต่อมา

บทเรียนที่ย้ำเตือนทุกยุคสมัย

ชีวิตของโรซา พาร์กส คือ บทพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากการกระทำที่ยิ่งใหญ่เสมอไป หากเเต่เกิดจากการลุกขึ้นมายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องแม้เพียงเล็กน้อย ความกล้าหาญของเธอไม่ได้เป็นเพียงแรงบันดาลใจในยุคนั้นเพียงเท่านั้น แต่ยังคงสะท้อนเสียงแห่งความยุติธรรมในทุกยุคสมัย

“ผู้คนมักบอกว่าฉันเลือกที่จะไม่ลุกเพราะเหนื่อย มันก็ไม่ได้จริงเสมอไปนะ ฉันไม่ได้เหนื่อยกาย ไม่ใช่เลย ฉันเหนื่อยที่จะต้องยอมอยู่ร่ำไป”

<< ติดตามหนังดี ซีรีส์ดังก่อนใครได้ที่  www.uhdmax.net | www.inwiptv.org >>