slider2
slider2
previous arrow
next arrow
ไขรหัสความสำเร็จ Man from the Earth ชายผู้มีอายุหมื่นปี ท้าทายความเชื่อ ปรัชญา และความศรัทธา

ไขรหัสความสำเร็จ Man from the Earth ชายผู้มีอายุหมื่นปี ท้าทายความเชื่อ ปรัชญา และความศรัทธา

Man from the Earth ชื่อไทย ชายผู้มาจากโลก เป็นภาพยนตร์อิสระเชิงปรัชญา กำกับโดย Richard Schenkman ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาผู้ชมไปสู่บทสนทนาที่ท้าทายความเชื่อทุกอย่างของเรา ด้วยการตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ รวมถึงการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์และบทสนทนาที่ลึกซึ้ง “Man from the Earth” ชายผู้มาจากโลก ถือเป็นหนังชิ้นเอกที่จะทำให้ผู้ชมตั้งคำถามกับชีวิตของตนเองเกี่ยวกับความจริงและความหมายของชีวิต

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ใช้ทุนในการสร้างเพียง 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 7 ล้านบาท มีการใช้สถานที่ถ่ายทำเพียงแห่งเดียว และใช้นักแสดงเพียง 8 คน แต่กลับกวาดรางวัลมากถึง 12 รางวัล โดย IMDb ให้คะแนนไว้ที่ 7.9 ส่วนบรรดานักวิจารณ์จากเว็บมะเขือเน่า (Rotten Tomatoes) ก็มอบคะแนนให้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนผู้ชมก็มอบให้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์

ความสำเร็จดังกล่าวต้องยกความดีความชอบให้กับบทของภาพยนตร์ที่สามารถเติมเต็มช่องว่างให้กลายเป็นภาพยนต์แนวไซไฟที่ล้ำหน้าในทางความคิดที่แฝงปรัชญาในบทสนทนา โดยนำเสนอว่า บนโลกเรามีผู้ที่อยู่เหนือความตาย และจะเกิดอะไรขึ้นหากเขามาเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยใช้ ‘ความจริง’ ที่ประสบพบมาด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

บทความต่อไปนี้จะมีเนื้อหาสปอย

The Man from Earth (2007) เล่าเรื่องของอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งชื่อ จอห์น โอลแมน (นำแสดงโดย David Lee Smith) มีหน้าที่การงานมั่นคง และกำลังอยู่ในช่วงก้าวกระโดดของชีวิต เขาได้เลื่อนขั้นเป็นอธิการบดีตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่กลับปฏิเสธและยื่นใบลาออกเสียดื้อๆ พร้อมกับเก็บข้าวของเพื่อจากไปอย่างทันที ในระหว่างที่กำลังเก็บของ เหล่าอาจารย์ที่ในมหาวิทยาลัยก็ตามมาอำลาเขาตามประสาเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่ทุกคนสงสัยคือ ทำไมคนวัยหนุ่มเช่นเขาถึงหันหลังให้กับความสำเร็จ ซึ่งคำตอบที่พวกเขาได้รับจากจอห์น ที่เขาไม่เคยเปิดเผยกับใครว่า เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตในยุคน้ำแข็งและรอดชีวิตมาถึงปัจจุบันนี้โดยมีอายุมากกว่า 1.4 หมื่นปี

การท้าทาย ‘ความจริง’ ของ จอห์น โอลแมน

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแนวความคิดที่คัดค้าน ‘ความจริง’ ที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงมาเปิดเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะเดียวกันก็ให้เหล่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยเป็นผู้พูดคุยกับจอห์น และถามในสิ่งที่พวกเขามีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ จนถึงปรัชญา

มีช่วงหนึ่งที่ตัวละครที่เป็นอาจารย์ด้านโบราณคดีกล่าวกับวงสนทนาว่า ‘ถ้าคนในยุคน้ำแข็งมีอายุเท่าพวกเรา เขาคงเรียนรู้ได้มากกว่าพวกเราในปัจจุบัน’ ข้อความตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงที่มาของคำว่า ปรัชญา (Philosophy) ที่เป็นการรวมกันระหว่างคำว่า ความรัก (Sophia) กับความรู้ (Philos) กลายเป็นความรักในความรู้ และความรักดังกล่าวทำให้ความรู้ ‘ไม่มีวันตาย’ ถูกส่งต่อไปในอนาคตเรื่อยๆ เสมือนกับตัวของจอห์นที่มีอายุมากกว่าใครๆ บนโลกนี้ เขาได้โอกาสเรียนรู้มากกว่าใครๆ และได้ออกค้นหาความหมายของชีวิตมาหลายพันปี จนกระทั่งได้พบเจอบุคคลที่ชื่อเสียงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโซฟิสต์ โคลัมบัส แวนโก๊ะ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า

ความจริงของจอห์นนำมาสู่การตั้งคำถามอีกมากมายที่พยายามคัดค้านและขัดแย้งสิ่งที่เขาเล่า โดยยกหลักฐานต่างๆ แต่ปรากฏว่าจอห์นสามารถตอบได้ทั้งหมด โดยใช้ ‘ความจริง’ จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาในระหว่าง 1.4 หมื่นปี ทำให้ไม่มีใครสามารถแย้งได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงเปิดเรื่องมีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งกล่าวกับจอห์นว่า วันแรกเมื่อสิบปีที่แล้วกับวันนี้ หน้าตาของเขายังคงเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่า ‘ความจริง’  ของจอห์นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป และความไม่เคยเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้จอห์นต้องย้ายที่อยู่ทุก 10 ปี ไม่เช่นนั้นจะมีคนเริ่มสงสัยว่าเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป

ผู้เขียนคิดว่าตรงนี้คือความท้าทายประการแรก ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของกลุ่มโซฟิสต์คนสำคัญอย่างเพลโต ที่เสนอแนวความคิดเรื่องโลกแห่งแบบหรือโลกเหนือประสาทสัมผัส เป็นโลกแห่งสัจจะแท้ (The Absolute Reality) ซึ่งไม่แปรปรวน มีความจริง เป็นนิรันดร และเป็นโลกที่สมบูรณ์ เช่น มนุษย์แต่ละคนต่างมีความเป็นปัจเจกแตกต่างกัน สิ่งที่มีร่วมกันคือความเป็นคน ที่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่ต่อให้มนุษย์ตายไป ความเป็นคนไม่ได้ตายไปด้วย แตกต่างจาก จอห์น โอลแมน ที่ ‘ความจริง’ ของเขา คือการไม่มีวันตาย แสดงว่าไม่ว่าจะในโลกแห่งความจริงหรือโลกแห่งแบบ การมีชีวิตอยู่ของจอห์น โอลแมน ก็คือความท้าทายความจริงอย่างถึงที่สุด

อาจสรุปได้ว่าในขณะที่ จอห์น โอลแมน (แค่ชื่อก็แสดงถึงนัยสำคัญ) เล่าเรื่องต่างๆ มากมายที่กำลังท้าทายความเป็นจริงของโลกใบนี้ในมุมมองของเขา แน่นอนว่าอาจเป็นเพียงทฤษฏีสมทบคิด (Conspiracy theory) ที่ในหนึ่งเรื่องอาจมีเรื่องเล่าเป็นร้อยหรือพันแบบแตกต่างกันไป แต่ในโลกของความเป็นจริงที่พวกเราอาศัยอยู่ จอห์นคือตัวละครที่ทำหน้าที่ ‘ท้าทาย’ ความคิดตัวละครอื่นๆ พร้อมกับผู้ชมไปพร้อมกัน

กล่าวโดยสรุป แม้กว่าร้อยละ 90 ของ The Man from Earth คือบทสนทนา แต่กว่า 80 นาทีของภาพยนตร์ ไม่มีช่วงไหนที่น่าเบื่อเลย แต่กลับทำให้เรายิ่งอยากรู้เรื่องราวจากปากของชายผู้อ้างตัวเองว่าเคยเจอพระพุทธเจ้า เป็นเพื่อนแวนโก๊ะ และเป็นพระเยซูคริสต์มากขึ้น กับการตั้งคำถามถึงความเชื่อและความศรัทธา นี่จึงเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

Author : Ad MOB